ที่มา : https://travel.thaiza.com/
ประเทศไทยยังขาดแคลนนักโบราณคดี ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง ปัจจุบันพบว่าสำนักโบราณคดีแต่ละแห่ง มีนักโบราณคดี 2 - 3 คน การดูแลไม่ทั่วถึงทำให้มีปัญหากลุ่มผู้ลักลอบขุดโบราณวัตถุ ส่งขายทั้งไทยและต่างประเทศ ขณะที่การศึกษาด้านโบราณคดีในขณะนี้ มีแห่งเดียวที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แม้จำนวนนักศึกษายังไม่ลดลง แต่อัตรา บรรจุในแต่ละปีของกรมศิลปากรนั้นน้อยมาก
เป้าหมายของโบราณคดี
เป้าหมายหลักของการศึกษาทางโบราณคดีมี 4 ประการ (Fagan 1988 ; สว่าง เลิศฤทธิ์ 2547 : 3-4) คือ
1. เพื่อเปิดเผยลักษณะต่างๆของอดีต นั่นคือ การพรรณนาและจัดจำแนกหลักฐานทางกายภาพ เช่น แหล่งโบราณคดี และโบราณวัตถุที่พบ ออกเป็นหมวดหมู่ โดยพิจารณาในบริบทของสถานที่และเวลา เพื่อจะสามารถพรรณนาประวัติวัฒนธรรมของมนุษย์
2. เพื่อค้นหาบทบาทหน้าที่ (function) ของหลักฐานต่างๆ เพื่อที่จะสร้างภาพพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีต โดยวิเคราะห์จากรูปร่างหรือรูปทรงสัณฐาน และความสัมพันธ์ระหว่างหลักฐานที่พบ หรือกล่าวสั้นๆได้ว่า เป็นการจำลองภาพวิถีชีวิตของมนุษย์ในอดีตขึ้นมาใหม่ (reconstruct) นั่นเอง
3. เพื่อค้นหาและเข้าใจกระบวนการทางวัฒนธรรมว่าเกิดขึ้น ดำเนินไป และเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอย่างไร และด้วยสาเหตุใด
4. เพื่อเข้าใจความหมายทางวัฒนธรรมภายใต้บริบทเชิงสัญลักษณ์ คุณค่า และโลกทัศน์ต่างๆ
บริบททางโบราณคดี คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่ง เวลา และสถานที่ ซึ่งมีผลและเกี่ยวข้องกับหลักฐานทางโบราณคดีนั้นๆ
ลักษณะของบริบททางโบราณคดี สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
1. บริบทแบบปฐมภูมิ (primary context) คือ บริบทเดิมของหลักฐานทางโบราณคดี โดยตำแหน่งของหลักฐาน และสิ่งล้อมรอบหลักฐานนั้นๆ ปราศจากขั้นตอนการถูกรบกวนตั้งแต่เดิมที่มีการทับถม
2. บริบทแบบทุติยภูมิ (secondary context) คือ บริบทเดิมของหลักฐานทางโบราณคดี โดยตำแหน่งของหลักฐานและสิ่งล้อมรอบหลักฐานนั้นๆ ทั้งหมดหรือบางส่วน ถูกแปรเปลี่ยนหรือถูกรบกวนในสมัยหลัง อาจจะเกิดจากธรรมชาติหรือมนุษย์ก็ได้
ขุดค้นทางโบราณคดี
1. กระบวนการหรือกรรมวิธีการเก็บข้อมูลหรือการตรวจสอบทางโบราณคดี โดยการขุดหาวัตถุหลักฐานที่มีการทับถมในชั้นดิน เพื่อทำการศึกษา วิเคราะห์ สรุปเรื่องราว หรือการขุดค้นเพื่อตรวจสอบหรืออนุรักษ์ทางโบราณคดี
ในกรณีที่ขุดตรวจสอบศึกษาร่องรอยสถาปัตยกรรม เรียกว่า การขุดแต่งทางโบราณคดี
2. การขุดเพื่อค้นคว้าหาความรู้จากโบราณวัตถุ โบราณสถาน โดยหลักวิชาอันประกอบด้วยการขุดอย่างพินิจพิเคราะห์และจดบันทึกรายงานอย่างถูกต้อง เพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าวิจัยพฤติกรรมด้านต่างๆ ของมนุษย์ ที่เราเรียกว่าปนระวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
3. วิธีปฏิบัติงานขั้นตอนหนึ่งของการทำงานโบราณคดี ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยและบันทึกหลักฐานทางโบราณคดีที่ทับถมอยู่ใต้ชั้นดิน โดยการขุดค้นมีอยู่หลายเทคนิค แต่ละเทคนิคมีข้อเด่นและข้อด้อยแตกต่างกัน เช่น Open Area Excavation, Planum Method, Quardrant Method และ Wheeler Method
ตัวอย่างแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งหนึ่ง อยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ที่ทำให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปี
ที่มา : https://th.wikipedia.org
ศิลปะเครื่องปั้นดินเผา
ศิลปะเครื่องปั้นดินเผา ของบ้านเชียงนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ยุค ได้แก่
ภาชนะดินเผาสมัยต้น อายุ 5,600-3,000 ปี มีลายเชือกทาบ ซึ่งคาดกันว่าเป็นปอกัญชา ทั้งยังมีลายขูดขีด และมีการเขียนสีบ่า โดยพบวางคู่กับโครงกระดูก บางใบใช้บรรจุศพเด็ก
ภาชนะดินเผาสมัยกลาง อายุ 3,000 ปี-2,300 ปี สมัยนี้เป็นสมัยที่เริ่มมีการขีดทาสีแดง
ภาชนะดินเผาสมัยปลาย อายุ 2,300 ปี-1,800 ปี เป็นยุคที่มีลวดลายที่สวยงามที่สุด ลวดลายพิสดาร สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมที่สงบสุข ก่อนที่จะกลายมาเป็นการเคลือบน้ำโคลนสีแดงขัดมัน
ที่มา : https://th.wikipedia.org/
แหล่งโบราณคดีแก่งตาน
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านในเขต ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยโบราณวัตถุที่ค้นพบได้แก่เศษภาชนะดินเผาผิวขัดมัน และผิวเรียบ มีลายเชือกทาบเส้นเล็กและเส้นใหญ่ ลายประทับตาข่าย และไม่มีลาย ชิ้นส่วนเครื่องมือหินขัด ก้อนดินเผาไฟ เครื่องถ้วยลายครามจีน เศษไห เนื้อดินสีเทาแบบไม่เคลือบ สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวของกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ที่เดินทางมาโดยทางน้ำ และเดินเท้ามาตามริมฝั่งแม่น้ำน่าน ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓ (สมัยรัชกาลที่5)
สิ่งที่ค้นพบ
เศษภาชนะดินเผาผิวขัดมัน
เศษภาชนะดินเผาผิวเรียบ
เศษภาชนะดินเผาผิวเรียบ ลายเชือกทาบเส้นเล็ก และเส้นใหญ่
เศษภาชนะดินเผา ลายประทับตาข่าย
เศษภาชนะดินเผาไม่มีลาย
เครื่องมือหินขัด
ก้อนดินที่ใช้เผาไฟสมัยโบราณ
เครื่องถ้วยชามครามจีน
เศษไห เนื้อดินสีเทาแบบไม่เคลือบ
ที่มา : http://www.thaiheritage.net/
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตสถาน, 2556 : 689.
ราชบัณฑิตยสถาน. ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ : 3 เมษายน 2555. แหล่งที่มา http://rirs3.royin.go.th/coinages/webcoinage.php
สว่าง เลิศฤทธิ์ (ธนิก เลิศชาญฤทธ์). โบราณคดี : แนวคิดและทฤษฎี. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2547.
สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2550.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น